ความเปลี่ยนแปลงภายในสมองของวัยรุ่น

6747 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความเปลี่ยนแปลงภายในสมองของวัยรุ่น

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวัยรุ่น เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในด้านสรีระร่างกาย รวมไปถึงอารมณ์จิตใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติโดยทั่วไปที่เราต้องประสบพบเจอจากวัยรุ่นที่กำลังเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นอาจเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ หรือไม่ก็เป็นแบบรวดเร็วราวกับพายุพัดโหมกระหน่ำ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราตกอกตกใจต่อพฤติกรรมของพวกเขาไม่มากก็น้อย นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว คุณครูก็ถือเป็นบุคคลใกล้ชิดอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะต้องเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา

ทุกวันนี้เราสอนให้เด็กวัยรุ่นเรียนรู้เกี่ยวกับความรักที่สร้างสรรค์ การป้องกันเรื่องเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการรู้จักควบคุมอารมณ์ให้สมกับผู้ที่มีวุฒิภาวะที่โตขึ้น แต่เราให้ความรู้กับพวกเขาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภายในสมองของเขามากน้อยแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในสมองเหล่านั้นคือบ่อเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือของเขา แต่เรากลับให้ความรู้กับเขาในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก และในขณะเดียวกันเราเองก็แทบจะไม่เข้าใจความสำคัญของมันเลย จนบางครั้งทำให้เรามักจะมองว่าพฤติกรรมที่แย่ ๆ ของวัยรุ่นคือนิสัยที่แก้ไขอะไรไม่ได้ไปเสียอย่างนั้น



สมองของวัยรุ่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มหัศจรรย์
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนของสมองที่เติบโตขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุดคือ สมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งเป็นกลุ่มของสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัสกับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ กินพื้นที่กว่า ร้อยละ 20 ของสมอง สมองส่วนลิมบิกนี้ จะมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ในช่วงอายุ 10 ถึง 12 ปี ซึ่งเป็นผลจากการที่ แอกซอน (Axon) เส้นใยของเซลล์ประสาทที่มีลักษณะเรียวยาว มีเยื่อไขมันที่เรียกว่า เยื่อไมอีลิน (Myelin sheath) ห่อหุ้มอยู่ค่อนข้างหนา ทำให้เซลล์ประสาทสามารถส่งสัญญาณได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้สมองส่วนลิมบิกพัฒนาได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน สมองส่วนนี้ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน อันได้แก่

1. ทาลามัส (Thalamus) ที่คอยเป็นเลขานุการของสมอง คอยรับส่งข้อมูลจากประสาทและไขสันหลังไปยังสมอง และรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดจากอาการช็อกในการบาดเจ็บรุนแรง

2. ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางการดูแลสมดุลของสภาพร่างกาย มีส่วนสำคัญในการควบคุมระบบร่างกายที่สำคัญต่างๆ เช่น การเต้นของหัวใจ สมดุลน้ำ ความหิว การพักผ่อนรวมไปถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างฮอร์โมนประสาทที่ส่งไปควบคุมการหลั่ง ฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้าอีกด้วย

3. ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นศูนย์ควบคุมการเรียนรู้และความจำ ทำหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลต่างๆซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อความจำระยะสั้นและระยะยาวของเรา

4. อะมิกดาลา (Amygdala) อยู่บริเวณสมองส่วนกลีบขมับ มีรูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ความกลัว และมักตอบสนองต่อความกลัวด้วยการแสดงความก้าวร้าว รวมทั้งทำหน้าที่ในการจัดระบบข้อมูลด้านความรู้สึก ซึ่งในวัยรุ่นสมองส่วนนี้จะทำงานมากที่สุดซึ่งส่งผลให้การแสดงออกทางอารมณ์ของวัยรุ่น จึงมักออกมาในลักษณะหุนหันพลันแล่นและรุนแรงนั่นเอง ...อ่านบทความ จากทรูปลูกปัญญา 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้